วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา (บาลี: อาสาฬหปูชา; อังกฤษ: Asalha Puja) เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย[1] คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก “อาสาฬหปูรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ” อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน
วันอาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก โดยแสดงปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน จนพระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าวันนี้เป็นวันแรกที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นครบองค์พระรัตนตรัย
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง พระปฐมเทศนา หรือการแสดง พระธรรมครั้งแรก หลังจากที่ตรัสรู้ได้ 2 เดือน เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีองค์ประกอบของ พระรัตนตรัยครบถ้วนคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี ในวันเพ็ญ (ขึ้น 15ค่ำ) เดือน 8 ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์
การแสดงพระปฐมเทศนา ได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี พระธรรมที่แสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อเทศนาจบ พระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเห็นแจ้งชัดว่า
ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา
เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ประทานอุปสมบทให้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยกล่าวคำว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเกิด พระโกณฑัญญะจึงเป็น พระอริยสงฆ์องค์แรก
คำว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไปมีความโดยย่อว่า
ที่สุด 2 อย่างที่บรรพชิตไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ การประกอบตนให้อยู่ในความสุขด้วยกาม ซึ่งเป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่สุดอีกทางหนึ่งคือ การประกอบการ
ทรมานตนให้เกิดความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
การดำเนินตามทางสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาและญาณให้เกิด เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ และนิพพาน ทางสายกลาง ได้แก่
อริยมรรค มีองค์แปด คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริห์ชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจชอบ อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ค้นพบ มี 4 ประการได้แก่
ความทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ว่าโดยย่อ อุปาทานในขันธ์ 5 เป็นทุกข์
สาเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก อันทำให้เกิดอีกความกำหนัด เพลิดเพลินในอารมณ์ คือกามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานในภพ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่มีภพ
ความดับทุกข์ โดยการดับตัณหาด้วยอริยมรรค คือ วิราคะ สละ ดับ ปล่อยไป ไม่พัวพัน
หนทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8 คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การเจรจาชอบ การกระทำชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความพยายามชอบ การระลึกชอบ และการตั้งจิตมั่นชอบ
ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่า
นี้เป็นทุกข์ อันควรกำหนดรู้ และพระองค์ ได้กำหนดรู้แล้ว
นี้เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ อันควรละ และพระองค์ ได้ละแล้ว
นี้เป็นความดับทุกข์ อันควรทำให้แจ้ง และพระองค์ ได้ทำให้แจ้งแล้ว
นี้เป็นหนทางดับทุกข์ อันควรเจริญ และพระองค์ ได้เจริญแล้ว
สรุปได้ว่า ปัญญาอันรู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจ 4 มีรอบ 3 มีอาการ 12 คือ ขั้นแรก รู้ว่า อริยสัจแต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร ขั้นที่สองรู้ว่าควรจะทำอย่างไรในอริยสัจแต่ละประการนั้น และขั้นที่ 3 พระองค์ได้ กระทำตามนั้นสำเร็จเสร็จแล้ว
พระองค์ทรงเน้นว่า จากการที่พระองค์ทรงค้นพบ คือตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการนี้ การที่พระองค์ทรงกล้าปฏิญญา ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะพระองค์ได้รู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริง ในอริยสัจ 4 มี รอบ 3
มีอาการ 12 อย่างหมดจดดีแล้ว
เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศพระธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ได้มีการบันลือต่อ ๆ กันไปให้ทราบทั่วกันว่า พระธรรมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขต
เมืองพาราณสี อันใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้
วันอาสาฬหบูชามีเหตุการณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนาอยู่ 3 ประการคือ
1. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา โดยทางแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ตรัสรู้ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย
2. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นในโลก คือ พระโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาจบ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกษุอุปสัมปทา ในวันนั้น
3. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย ขึ้นในโลกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์
การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันอาสาฬหบูชา
กิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัว
๑.ทำความสะอาดบ้าน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งที่บุชาประจำบ้าน
๒. ศึกษาเอกสาร หรือสนทนา เกี่ยวกับความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ ทางสายกลาง และแนวทางปฏิบัติในครอบครัว
๓. ตั้งใจและอธิษฐานจิตที่จะน้อมนำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต โดยใช้หลักธรรมทางสายกลาง และส่งเสริมให้เกิดการลด ละ เลิก อบายมุข
๔. นำครอบครัวไปบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณรในช่วงเช้าหรือเพล บริจาคทาน ให้ทาน หรือบริจาคทรัพย์ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ยากไร้ /ผู้ด้อยโอกาส หรือจะบริจาคโลหิตก็ได้
๕. ปฏิบัติธรรมที่วัด รักษาศีล ไหว้พระ สวดมนต์ ฟังธรรม เวียนเทียน เจริญภาวนา บำเพ็ญภาวนาด้วยการไหว้พระ สวดมนต์ หรือปฏิบัติสมาธิ/วิปัสสนา รักษาศีล สำรวมระวังกาย วาจา และใจ โดยอาจจะรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ เป็นกรณีพิเศษ
๖. พาครอบครัวไปทำบุญ บำเพ็ญกุศล เวียนเทียน หรือไปร่วมปฏิบัติธรรมที่วัด
๗. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม
กิจกรรมเกี่ยวกับสถานศึกษา
๑.ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา
๒. ครูและนักเรียนร่วมกันศึกษาถึงความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ ทางสายกลางและแนวทางปฏิบัติในสถานศึกษา
๓. ครูให้นักเรียนจัดทำป้ายนิเทศ หรือจัดนิทรรศการ ประกวดเรียงความ ทำสมุดภาพ ตอบปัญหาธรรม บรรยายธรรม อภิปรายธรรม
๔. ประกาศเกียรติคุณของนักเรียนที่ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี
๕. ครูพานักเรียนไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนที่วัด บำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม สนทนาธรรม เวียนเทียน เจริญภาวนา
๖. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม
กิจกรรมเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน
๑. ทำความสะอาด บริเวณที่ทำงาน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา
๒. ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ ทางสายกลาง และแนวทางปฏิบัติในสถานที่ทำงาน
๓. จัดป้ายนิเทศเกี่ยวกับหลักธรรมทางสายกลางเพื่อสร้างอุดมการณ์ในการทำงาน
๔. จัดให้มีการบรรยายธรรม และสนทนาธรรม
๕. ร่วมกับบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ปลูกต้นไม้ บริจาคโลหิต
๖. หัวหน้าหน่วยงานให้โอกาสผู้ร่วมงานไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีนิยม
๗. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม
กิจกรรมเกี่ยวกับสังคม
๑. วัด สมาคม มูลนิธิ หน่วยงาน องค์กร สื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์เรื่องวันอาสาฬหบูชา โดยใช้สื่อทุกรูปแบบ
๒. จัดพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ ทางสายกลาง และแนวทางปฏิบัติ เพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และตามสถานที่ชุมชน เช่น สนามบิน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงธรรม ศูนย์การค้า รวมทั้งบนยานพาหนะต่าง ๆ
๓.เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรม ปฏิบัติธรรม และพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์
๔. รณรงค์ทางสื่อมวลชนต่าง ๆ ให้ลด ละ เลิก อบายมุข และให้งดจำหน่ายสิ่งเสพติดทุกชนิด
๕. ประกาศเกียรติคุณสถาบัน หรือบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม
๖. รณรงค์ให้มีการรักษา สภาพแวดล้อม ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาด ที่สาธารณะ
๗. จัดประกวด สวดสรภัญญะ บรรยายธรรม คำขวัญ บทร้องกรอง บทความเกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชา
๘. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม
ประโยชน์ที่จะได้รับ
๑. พุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ ทางสายกลาง และแนวทางปฏิบัติ . พุทธศาสนิกชนเกิดเจตคติที่ดีต่อวันอาสาฬหบูชา และเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมทางสายกลาง
๒. พุทธศาสนิกชนเกิดศรัทธา ซาบซึ้ง และตระหนักในความสำคัญของพระพุทธศาสนา
๓. พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีรู้จักปฏิบัติตนตาม
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.