วันสารทไทย
สารท เป็นการทำบุญกลางปีของไทยตรงกับ วันสิ้นเดือน 10 หรือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งมักจะตกราวๆ ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม เป็นฤดูที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้สุก ข้าวและต้นผลไม้ที่ปลูกไว้กำลังให้ผลเป็นครั้งแรกในฤดูนี้
หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนได้กล่าวไว้ ว่า “ สารท ” ซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์ ( งานรื่นเริงตามธรรมเนียมตามฤดูกาล ) เป็นที่นิยมของคนทั้งปวงทั่วไปว่าเป็นสมัยที่ได้ทำบุญ เมื่อปีเดือนวันคืนล่วงมาถึงกึ่งกลางรอบ ด้วยเหตุว่า เราถือเอากำหนด พระอาทิตย์ลงไปที่สุดทางใต้ กลับมาเหนือถึงกึ่งกลางปีเป็นต้นปี ครั้นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปเหนือจนสุดทางจะกลับลงใต้ มาถึงกึ่งกลางก็เป็นพอบรรจบ กึ่งกลางปี พูดง่ายๆก็คือ วันสารทไทย ถือเป็นวันทำบุญกลางปี ด้วยว่าสมัยก่อนเราถือเอาวันสงกรานต์ ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนเมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นช่วงเดือนสิบ จึงตกราวกลางปีพอดี คนทั่วไปจึงนิยมทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เสมือนเป็นการเตือนใจตัวเองว่า ชีวิตได้ดำเนินผ่านมาถึงกึ่งปีแล้ว ชีวิตข้างหน้าที่เหลือควรจะได้สร้างบุญกุศลไว้เพื่อความไม่ประมาท ซึ่งนอกจากการทำบุญดังกล่าวแล้ว ยังมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับอีกด้วย
พระยาอนุมานราชธน ได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่า คำว่า “ สารท ” เป็นคำอินเดีย หมายถึง “ ฤดู ” ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “ ออตอม ” อันแปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือเท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้เริ่มสุก และให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า “Seasonal Festival” โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า “ ผลแรกได้ ” นี้ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้ เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายพระคเณศ เป็นต้น
ความเป็นมา
สารทเดือนสิบ อันหมายถึง การทำบุญเดือนสิบ หรือ วันสารทไทย ของเรานั้น พระยาอนุมานราชธนได้สันนิษฐานว่า น่าจะนำมาจากคติของอินเดีย เกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง ผลแรกได้ อย่างที่กล่าวข้างต้นเช่นกัน แต่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวในฤดู สารทหรือช่วงฤดูใบไม้ร่วงของบางประเทศที่ว่า จะตกอยู่ในราว ๆ เดือน ๑๐ ทางจันทรคติของไทย ซึ่งโดยความจริงข้าวของเราจะยังไม่สุก มีเพียงผลไม้บางชนิดเท่านั้นที่สุก ครั้นเรารับความเชื่อนี้มา จึงมีปรับเปลี่ยนใช้ข้าวเก่าทำเป็นข้าวเม่า ผสมกับถั่ว งาและสิ่งอื่นกลายเป็น ขนมกระยาสารท ขึ้นมา ซึ่งเมื่อแรกๆก็คงมีการนำไปสังเวยเทวดา และผีสางต่างๆตามความเชื่อดั้งเดิมด้วย ต่อมา เมื่อเรานับถือศาสนาพุทธ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นการทำบุญถวายพระ และมักมีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับตามความเชื่อเดิมที่ว่าหากไม่ ได้ทำบุญตักบาตรกระยาสารท ผีปู่ย่าตายายจะได้รับความเดือนร้อนอดๆอยากๆ เท่ากับลูกหลานไม่กตัญญู นอกจากนี้ ระยะเวลาดังกล่าว ยังเป็น ช่วงกล้วยไข่สุกพอดี จึงมักถวายไปพร้อม ๆ กัน การทำบุญเดือนสิบนี้มีในหลายภูมิภาค เช่น ทางอีสาน เรียกว่า บุญข้าวสาก หรือสลากภัต เป็นหนึ่งในฮีตสิบสอง อันเป็นการทำบุญอุทิศให้ผู้ตายหรือเปรต โดยข้าวสากจะทำด้วยข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอกคลุกเข้ากันผสมกับน้ำตาล น้ำอ้อย ถั่ว งา มะพร้าวคล้ายๆกระยาสารทของภาคกลาง โดยมักจะทำราวกลางเดือนสิบ ห่างจากการทำบุญข้าวประดับดิน ที่ทำในช่วงสิ้นเดือน 9
พิธีสารทนอกจากเป็นประเพณีของชนชาวไทยทั่วไปแล้วในส่วนของพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่าพิธีของหลวงนั้นในสมัยสุโขทัย มีในตำนานนางนพมาศว่า
” …ราชบุรุษชาวพนักงานตกแต่งโรงพิธีในพระราชนิเวศน์ ตั้งก้อนเส้าเตาเพลิงแลสัมภาระเครื่องใช้เบ็ดเสร็จ นายนักการระหารหลวงก็เก็บเกี่ยวครรภสาลีและรวงข้าวมาตากตำเป็นข้าวเม่า ข้าวตอกส่งต่อมณเฑียรวังเวรเครื่อง นายพระโคก็รีดน้ำขีรารสมาส่งดุจเดียวกันครั้งได้ฤกษ์รับสั่งให้จ่าชาวเวรเครื่องทั้งมวลตกแต่งปรุงมธุปายาส ปรุงปนระดมเจือล้วนแต่โอชารส มีขัณฑสกร น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล นมสด เป็นต้น ใส่ลงในภาชนะซึ่งตั้งบนเตาเพลิงจึงให้สาวสำอางกวนมธุปายาสโดยสังเขป ชาวดุริยางค์ดนตรีก็ประโคมพิณพาทย์ ฆ้อง กลอง เล่นการมหรสพ ระเบงระบำล้วนแต่นารี แล้วพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยราชบริพารนำข้าวปายาส ไปถวายพระมหาเถรานุเถระ”
ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้สืบประเพณีพระราชพิธีสารทมาจัดทำ เช่น ในรัชกาลที่ 1 มีพระราชพิธีสารทกวนข้าวทิพย์ รัชกาลต่อมาได้ทำบ้างงดบ้าง จนถึงปีพุทธศักราช 2470 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสารท
ประเพณีสารทเดือนสิบ
ประเพณีสารทเดือนสิบ ที่รู้จักกันดี ก็คือที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีคติความเชื่อที่ว่า ในบรรดาญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีผู้มีบาปกรรมต้องได้รับโทษเป็นเปรตอยู่อบายภูมิ ปีหนึ่งๆยมบาลก็จะปล่อยให้กลับมาเยี่ยมลูกหลานเพื่อรับส่วนกุศลปีละครั้ง ในวันบุญสารท คือแรม 14 และ 15 ค่ำเดือน 10 และเมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 11 ก็ต้องกลับไปรับโทษตามเดิม บรรดาผีเปรตเหล่านี้ หากไม่มีใครทำบุญให้ ตอนเดินทางกลับก็จะอดอยาก และก็จะสาปแช่งลูกหลานในตระกูลที่เพิกเฉยไม่ทำบุญให้ ดังนั้น จึงเกิดมีการทำบุญสารทดังกล่าวเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยในวันแรม 14 ค่ำ จะมีการจัดหมฺรับ ( อ่านว่า หมับ หมายถึงสำรับ ) ในหมฺรับจะมีอาหารต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแห้ง พร้อมขนม 5 อย่างที่ถือว่าจะขาดไม่ได้คือ ขนมพอง คือหมายจะให้เป็นแพฟ่อง ล่อยลอยพาบรรพชนล่วงข้ามสังสารวัฏ ขนมลา ให้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ขนมกง หรืองบางทีก็ใช้ ขนมไข่ปลา ให้เป็นเครื่องประดับ ขนมบ้า ให้บรรพชนใช้เป็นลูกสะบ้าสำหรับเล่นรับสงกรานต์ และ ขนมดีซำ ให้เป็นเบี้ยไว้ใช้สอย สำรับดังกล่าวนี้ คนนครฯ มักตกแต่งเป็นรูปแบบต่างๆตามที่เห็นว่าสวยงาม แต่ต้องมียอดสูงแหลมไว้เสมอ
การถวายหมฺรับหรือสำรับแด่พระสงฆ์ มักใช้วิธีจับสลากที่เรียกว่า “ สลากภัต ” นั่นเอง เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ ก็จะมีพิธียกหมฺรับตายาย คือ การนำอาหารไปไว้ตามใต้ต้นไม้หรือกำแพงวัดสำหรับผีไม่มีญาติ เมื่อพระสวดบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลเสร็จ เด็กๆหรือผู้ใหญ่ก็จะวิ่งกรูไปแย่งชิงอาหารในหมฺรับที่วางไว้ ด้วยเชื่อว่าอาหารเหล่านี้กินแล้วได้กุศลแรง พิธีนี้เรียกว่า “ ชิงเปรต ” ซึ่งต่อมาได้มีการจัดเป็นแถวรอรับเพื่อความเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดทะเลาะวิวาทเนื่องจากการแย่งชิงกัน
ประเพณีสารทไทยในภาคต่างๆ
การทำบุญวันสารทนี้มีในหลายภูมิภาค โดยมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันดังนี้
ภาคกลาง เรียกว่า “สารทไทย”
ภาคเหนือ เรียก “งานทานสลากภัต” หรือ “ตานก๋วยสลาก”
ภาคอีสาน เรียก “ทำบุญข้าวสาก”
ภาคใต้ เรียก “งานบุญเดือนสิบ” หรือ “ประเพณีชิงเปรต”
ถึงแม้ว่าการทำบุญเดือนสิบในแต่ละท้องที่จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ การทำบุญกลางปี เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองที่มีชีวิตผ่านพ้นเวลามาได้ถึงกึ่งปี และเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่อาจมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันบ้าง ดังนี้
ภาคกลาง
ประเพณีวันสารทไทย ถือว่าเป็นประเพณีของภาคกลาง เมื่อใกล้ถึงวันสารท ชาวบ้านทุกบ้านจะกวนกระยาสารท เพื่อนำไปตักบาตร และแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน ในวันสารทชาวบ้านจะจัดแจงข้าวปลาอาหาร ไปทำบุญกรวดน้ำที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ญาติมิตรผู้ล่วงลับ และถือศีล ฟังธรรมเทศนา
บางท้องถิ่นจะทำขนมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้วก็นำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ
ภาคเหนือ
พิธีสารทไทยในภาคเหนือ มีชื่อเรียกว่า “ตานก๋วยสลาก” หรือ ทานสลากภัต (ชื่อในภาคกลาง) และมีชื่ออื่นๆ อีกตามแต่ในท้องถิ่น เช่น ตานสลาก, กิ๋นข้าวสลาก, กิ๋นก๋วยสลาก หรือ กิ๋นสลาก คำว่า “ก๋วย” แปลว่า “ตะกร้า” หรือ “ชะลอม” ส่วน “สลากภัต” หมายถึงอาหารที่ถวายพระตามสลาก นับเข้าเป็นเครื่องสังฆทาน
ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล มีตำนานเล่าว่า มีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียน ผู้คนอยู่เสมอ ครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา นิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารี จนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งนางยักษิณีตนนั้น ถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้ แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมาก นางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์-สามเณร จับสลากด้วยหลักอุปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวาย มีทั้งของของมีราคามาก และมีราคาน้อยแตกต่างกันไปตามแต่โชคของผู้ได้รับ การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา
ประเพณี “ตานก๋วยสลาก” หรือ “สลากภัต” ของชาวล้านนานิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน 12 เหนือ ถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคมของทุกปี เพราะช่วงนี้ชาวนาจะได้หยุดพัก หลังจากทำนาเสร็จแล้ว ขณะที่พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหน บวกกับในช่วงเวลานี้มีผลไม้สุก เช่น ลำไย มะไฟ ส้มโอ เป็นต้น และยังเป็นการสงเคราะห์คนยากจน เช่น ชาวนาที่ฐานะไม่ค่อยดี ไม่มีข้าวเหลือพอก่อนฤดูเก็บเกี่ยว จึงนับว่าเป็นการให้สังฆทาน ได้กุศลแรง
ก่อนจะถึงวันตานก๋วยสลาก 1 วัน จะเรียกว่า “วันดา” หรือ “วันสุกดิบ” เป็นวันที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวของ ไม่ว่าจะเป็นของกิน หรือของใช้ต่างๆ สำหรับที่จะนำมาจัดดาใส่ก๋วยสลาก เช่น เกลือ ข้าวสาร หอม กะปิ ชิ้นปิ้ง เนื้อเค็ม จิ้นแห้ง แคบหมู เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้ต่างๆ เป็นต้น
วันนี้มักจะมีญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ต่างบ้านจะมาร่วมไฮ่ฮอม (ทำบุญ) และมาร่วมจัดดาสลากด้วย ซึ่งถือเป็นประเพณีที่จะได้ทำบุญร่วมกัน ผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า) สำหรับที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่างๆ ก๋วยจะกรุด้วยใบตอง หรือตองจี๋กุ๊ก เมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีไม้ไผ่เหลาเป็นก้านเล็กๆ สำหรับเสียบสตางค์,กล่องไม้ขีดไฟ,บุหรี่ เพื่อทำเป็นยอด ก๋วยสลากจะมากน้อยบ้าง ตามแก่กำลังศรัทธาและฐานะ แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีคนสาน “ก๋วย” เป็น จึงใช้ถุงพลาสติกบรรจุสิ่งของต่างๆ แทน
ก๋วยสลากมีอยู่ 2 ลักษณะคือ
1. ก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ทั้งญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหายหรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรัก และมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิตเช่น ช้าง ม้า วัว ควายและสุนัข เป็นต้น หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้า
2. ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธา และฐานะดี เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง
สลากที่มักจัดทำขึ้นเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ “สลากโชค” มักจะเป็นสลากของผู้ที่มีฐานะดีระดับเศรษฐี (บางคน) ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับอันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณคน มักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่สำหรับที่จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆผูกมัดติดกับต้นสลาก เช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่งห่ม อาหาร แห้งต่างๆ และเงินที่เป็นธนบัตรชนิดต่างๆ ต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา
ก่อนที่จะนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด ต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน โดยเส้นสลากนี้ผู้เป็นเจ้าของก๋วยสลาก จะเอาใบลานมาตัดเป็นเส้นยาวๆ ความกว้าง 2 – 3 นิ้ว แล้วจารึกชื่อของเจ้าของไว้ บอกว่าอุทิศส่วนกุศลให้ใครบ้าง แต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษ คำจารึกในเส้นนั้นมักจะเขียน ดังนี้
เจติ ตานํ สลากข้าวซองนี้หมายมีผู้ข้าชื่อ……………..ของทานไว้กับตนกับตัวภายหน้า ขอหื้อสุขสามประการ มีนิพพานเป๋นยอดแด่เน้อ………………………ฯ
เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันไว้ที่วัดแล้ว เส้นสลากจะถูกนำไปกองรวมกันไว้ในวิหารหน้าพระประธาน จากนั้นทายกผู้เป็นหัวหน้า ก็จะนำเบอร์มาติดที่สำรับกับข้าวของเจ้าภาพแต่ละราย แล้วเขียนหมายเลข เมื่อเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว เส้นสลากจะถูกนำมาแบ่งสันปันส่วนกันไปโดยการจับสลากในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์มาจากวัดต่างๆ รูปละ 5 เส้น 10 เส้นบ้างแล้วแต่กรณี ส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพ ก่อนจะถึงเวลาเพล พระสงฆ์ก็จะนำเอาเส้นสลากไปอ่าน โดยเริ่มจากเจ้าอาวาส พระจับได้เบอร์อะไรของเจ้าภาพคนใด ก็ไปฉันสำรับกับข้าวที่เจ้าภาพนำมา ก่อนที่จะมีการเส้นสลาก (จับสลาก) ก็จะมีการฟังเทศน์อย่างน้อย 1 กัณฑ์ ต่อจากนั้นก็จะมีการยกของประเคนตามสลาก เมื่อพระฉันเสร็จแล้วก็จะอนุโมทนา และให้ศีล ให้พรเจ้าภาพก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นอันเสร็จพิธี
งานสารทไทยภาคเหนือที่เป็นเอกลักษณ์อีกแห่งคือ “งานสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง” ของจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งขึ้นชื่อเรื่องกล้วยไข่ งานนี้เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 และจัดต่อเนื่องมาเรื่อย เนื่องจากเห็นว่า กล้วยไข่จะออกผลมากในช่วงเดือนกันยายนพอดี และสามารถรับประทานเคียงกับกระยาสารทซึ่งเป็นขนมประจำวันสารทไทยได้เป็นอย่างดี จึงเป็นการประชาสัมพันธ์จังหวัดไปในตัว
ภาคใต้
มีประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว ในเดือน 10 เป็นสองวาระคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่ง และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง โดยถือคติว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้น จึงมีการทำบุญในสองวาระ ดังกล่าวนี้ แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เพราะมีความสำคัญ มากกว่า
การทำบุญของชาวไทยภาคใต้ดังกล่าวนี้ มีชื่อเรียกเป็น 4 อย่างคือ
1. ประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยกำหนดเอาเดือนทำบุญเป็นหลัก
2. ประเพณีทำบุญวันสารท โดยถือหลักของการทำบุญที่มีความ สัมพันธ์กับอินเดีย เหมือนวันสารทไทยของคนไทยในภาคกลาง ดังกล่าวมาแล้ว บางครั้งก็เรียกว่า ประเพณีทำบุญสารทหรือเดือนสิบ ซึ่งที่รู้จักกันดีคือ ประเพณีสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช
3. ประเพณีจัดหมรับ (อ่านว่า หมับ แปลว่า สำรับ) การยกหมรับ และการชิงเปรต คำว่า จัดหมรับ ได้แก่ การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุ โดยให้พระภิกษุจับสลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้ แล้วนำถวายพระภิกษุเป็นมื้อๆ การยกหมรับที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัด พร้อมทั้งภัตตาหารไปถวายพระภิกษุในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โตก็ได้ บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย
ส่วนชิงเปรตหรือตั้งเปรต นั้น เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ กล่าวคือ เมื่อจัดหมรับ ยกหมรับไปถวายพระภิกษุแล้วจะเอาอาหารที่จัดไว้ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากไปจัดตั้งไว้ให้เปรต โดยมากเป็นอาหารที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือขนม 5 อย่าง คือ ขนมพอง โดยหมายจะให้เป็นแพฟ่อง ล่อยลอยพาบรรพชนล่วงข้ามสังสารวัฏ ,ขนมลา ให้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม, ขนมกง หรืองบางทีก็ใช้ ขนมไข่ปลา ให้เป็นเครื่องประดับ, ขนมดีซำ ให้เป็นเบี้ยไว้ใช้สอย และขนมบ้า ให้บรรพชนใช้เป็นลูกสะบ้าสำหรับเล่นรับสงกรานต์
สถานที่ตั้งอาหารเป็นร้านสูงพอสมควร เรียกว่า ร้านเปรตหรือหลา (ศาลา) เปรต มีสายสิญจน์วงรอบ โดยให้ปลายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งโยงมาสำหรับพระภิกษุชักบังสุกุล ซึ่งชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ พอเก็บสายสิญจน์แล้ว ก็จะมีการแย่งอาหาร และขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนาน เรียกว่า ชิงเปรต แล้วนำมากิน ถือว่าได้กุศลแรงและเป็นสิริมงคล การทำบุญด้วย วิธีตั้งเปรต และชักบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลนี้ บางครั้งเรียกว่า การฉลอง ห.ม.รับและบังสุกุล ถือว่าสำคัญ เพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติผู้ล่วงลับไป แล้วด้วย ซึ่งต่อมาได้มีการจัดเป็นแถวรอรับเพื่อความเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดทะเลาะวิวาทเนื่องจากการแย่งชิงกัน
4. ประเพณีทำบุญตายาย หรือประเพณีรับส่งตายาย โดยถือคติว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้วกลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับนรกตามเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 แต่มีบางแห่งถือว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เหล่านี้เป็นตายาย เมื่อท่านมาก็ทำบุญรับ เมื่อท่าน กลับก็ส่งกลับ จึงเรียกประเพณีดังกล่าวนี้ว่า ทำบุญตายาย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีประเพณีการทำบุญในเดือน 10 เหมือนกัน คือ ทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 แต่แบ่งระยะเวลาของประเพณีการทำบุญออกไปเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะแรก ก่อนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านจะเตรียม ข้าวเม่าพอง และข้าวตอก (บางแห่งเรียกดอกแตก) ขนมและอาหารหวานคาวอื่นๆ เพื่อจะทำบุญในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 โดยเฉพาะข้าวสาก ซึ่งคนไทยภาคกลาง เรียกว่า กระยาสารท เมื่อเตรียมของทำบุญไว้เรียบร้อย ก็จะเอาข้าวปลาอาหารไปส่งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ถ้าหากบุคคลเหล่านั้นอยู่ห่างไกลก็จะไปค้างคืน นอกจากมอบของแล้วจะถือโอกาสเยี่ยมเยียนไปด้วย เรียกว่า ส่งเขาส่งเรา ผลัดกันไปผลัดกันมาเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ส่วนข้าวสารหรือกระยาสารทนั้น จะส่งก่อนวันทำบุญหรือในวันทำบุญก็ได้ เรียกว่า ส่งข้าวสาก
ระยะที่สอง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เวลาเช้า ชาวบ้านไปทำบุญตักบาตรที่วัดอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่อาจมีบางคนอยู่วัดรักษาศีล ฟังเทศน์ เมื่อถึงเวลาใกล้เพล ก็เตรียมภัตตาหารไปวัดอีกครั้งหนึ่ง มีห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ ข้าวสาก และ อาหารอื่นๆ บางแห่งอาจจัดของที่จะถวายเป็นกัณฑ์เทศน์ไปด้วย เมื่อถึงวัดแล้ว ก็จะจัดภัตตาหารและของที่จะถวายพระภิกษุ ถวายเสียก่อน บางแห่งนิยมทำเป็นสลาก ชาวบ้านคนไหนจับสลากถูก ชื่อพระภิกษุรูปใด ก็ถวายรูปนั้น ทำนองเดียวกับการทำบุญสลากภัต จึงเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจว่า การทำบุญข้าวสาก ก็คือทำบุญด้วยวิธีถวายตามสลาก
ส่วนห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ ชาวบ้านแจกกันเอง ห่อข้าวน้อยนั้ เมื่อแจกแล้วก็แก้ห่อออกกินกันในวัดทีเดียว ถือกันว่าเป็นการกินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
ส่วนห่อข้าวใหญ่เอากลับไปบ้าน เก็บไว้ในเวลาต่อไป เพราะอาหารในห่อนั้นเป็นพวกของแห้ง เช่น ปลาแห้ง เนื้อแห้ง ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานานๆ ถือคติว่าเอาไปกินในปรโลก ประเพณีแจกห่อข้าวน้อยและห่อข่าวใหญ่นี้ ปัจจุบันเกือบไม่มีแล้ว จะจัดเพียงภัตตาหารไปถวายพระภิกษุพร้อมด้วยข้าวสาก หรือ ถวายกระยาสารทเท่านั้น
สำหรับข้าวสากที่จะนำไปแจกกันเหมือนกระยาสารทของคนไทยภาคกลางนั้น วิธีห่อผิดกับทางภาคกลาง เพราะห่อด้วยใบตองกลัดด้วยไม้กลัด หัวท้ายมีรูปลักษณะคล้ายข้าวต้มมัด แต่ตรงปลายทั้งสองข้างที่เรียกว่าสันตองไม่ต้องพับเข้ามา ของที่ใส่ในห่อ มีข้าวต้ม (ข้าว เหมือนแบบข้าวต้มผัด) ข้าวสาก แกงเนื้อ แกงปลา หมาก พลู บุหรี่ ห่อแล้วเย็บติดกันเป็นคู่ๆ เอาไปห้อยไว้ตามต้นไม้ รั้วบ้าน เมื่อห้อยไว้แล้วก็ตีกลองหรือโปง เป็นสัญญาณให้เปรตมาเอาไปและปล่อยทิ้งไว้ชั่วพักหนึ่ง กะเวลาที่เปรตได้มารับเอาอาหารที่ห้อยไว้นั้นไปแล้ว ชาวบ้านก็แย่งกันชุลมุน ใครแย่งเก่งก็ได้มากกว่าคนอื่น เรียกว่า แย่งเปรต
ของที่แย่งเปรตไปได้นี้ ชาวบ้านจะเอาไปไว้ตามไร่นา เพื่อเลี้ยง ตาแฮก (ยักษินีหรือเทพารักษ์ รักษาไร่นาซึ่งเคยเลี้ยงมาเมื่อตอนเริ่มทำนาในเดือน 6 มาครั้งหนึ่งแล้ว) นอกจากเลี้ยงตาแฮกแล้วก็เอาไปให้เด็กรับประทาน เพราะถือว่าเด็กที่รับประทานแล้วจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
ขนมที่นิยมทำในเทศกาลสารทไทย
ขนมที่นิยมทำกันในช่วงนี้ นอกจากกระยาสารทที่มักทำเฉพาะเทศกาลสารทแล้ว ก็ยังมี ข้าวยาคู ข้าวมธุปายาสและข้าวทิพย์ ซึ่งแม้จะเรียกต่างกัน แต่ปัจจุบันจะหมายรวมๆกันไป ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว เมื่อเริ่มแรกข้าวยาคู ข้าวมธุปายาส และข้าวทิพย์นั้นมีที่มาและกรรมวิธีทำที่ต่างกัน กล่าวคือ
ข้าวยาคู มีตำนานเล่ามาว่ามีชาวนาพี่น้องสองคน คนโตชื่อว่ามหาการ น้องชื่อจุลการ มีไร่นา กว้างใหญ่ ในฤดูที่ข้าวตั้งท้องออกรวง คนน้องเห็นว่าควรจะนำข้าวนั้นมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าผู้ทรงนามว่า วิปัสสี แต่พี่ชายไม่เห็นด้วย เพราะจะต้องเสียข้าวในนาจำนวนไม่น้อย น้องชายจึงแบ่งไร่นาและนำเมล็ดข้าวในสวนไร่นาของตนไปทำอาหารที่เรียกว่า ข้าวยาคูไปถวายพระวิปัสสีและอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งภายหลังจุลการได้เกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ สำหรับข้าวยาคูนี้จุลการได้ ข้าวสาลีที่กำลังท้องฉีกรวงข้าวอ่อนออกมา แล้วต้มในน้ำนมสด เจือด้วยเนยใส น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด
ส่วน ข้าวมธุปายาส คือข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนม และน้ำผึ้ง มีตำนานเล่าว่า นางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐีปรุงขึ้นเป็นอาหารไปแก้บน และได้เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นนิโครธ ( ต้นไทร ) ก็เข้าใจพระองค์เป็นเทพยดาจึงนำอาหารนั้นไปถวาย พระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงมีความเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาส เป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้ว จะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อุดมด้วยสติปัญญา และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
สำหรับ ข้าวทิพย์ จะหมายถึง อาหารอันโอชะ ที่มีเครื่องปรุงถึง ๑๐๘ ชนิด ( หากทำแบบโบราณ ) แต่โดยหลักๆก็มี ๙ อย่าง คือ น้ำนมข้าว เนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม ถั่ว งาและข้าวเม่า ซึ่งการกวนแต่ละครั้งก็ต้องประกอบพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ต้อง ใช้สาวพรหมจารีย์กวน ฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์หรือไม้พุทราเท่านั้น ส่วนไฟก็ต้องเกิดจากแดดผ่านแว่นขยายที่เรียกว่า “ สุริยกานต์ ” เป็นต้น
จากพิธีกรรมในการปรุงที่มีความพิเศษ ตลอดจนความเชื่อที่ว่าข้าวมธุปายาสหรือที่เรียกว่าข้าวทิพย์หรือข้าวยาคูนี้ เป็นข้าวศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำให้ผู้กินพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุขสวัสดี และเป็นมงคลแก่ชีวิตนี้เอง ข้าวนี้จึงมีชื่ออื่นๆ เรียกอีกว่า เข้า ( ข้าว ) พระเจ้าหลวงบ้าง เข้า ( ข้าว ) บ่ทุกข์บ่ยากบ้าง เพราะถือว่ากินแล้วทำให้หายจากความทุกข์ยากลำบากต่างๆได้ ข้อสำคัญทำให้มีการ กวนข้าวทิพย์เป็นประเพณีในเทศกาลสำคัญ ๆ อื่น ๆ นอกเหนือไปจากการ งานพิธีพุทธาภิเษก เป็นต้น ซึ่งภาคใต้สมัยก่อนยังนิยมทำในงานบวชนาค และช่วงวันขึ้น ๑๓ – ๑๔ ค่ำเดือน ๓ ต่อเนื่องกับวันมาฆบูชาด้วยแต่มักจะเรียกกันว่า ข้าวยาคูมากกว่าข้าวมธุปายาส
กล่าวโดยสรุป วันสารทไทย ก็คือ ประเพณีทำบุญกลางปีเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองที่มีชีวิตผ่านพ้นเวลามาได้ถึงกึ่งปี ในขณะเดียวกันก็ถือโอกาสทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนเพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณไปด้วย โดยขนมที่นิยมใช้ทำบุญในช่วงนี้ คือ กระยาสารท ข้าวยาคู หรือข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาส นั่นเอง
เหตุใดต้องมีพิธีสารทไทย
– เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ เพราะเชื่อกันว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ มีโอกาสหมดหนี้กรรม ได้ไปเกิดหรือมีความสุข
– ได้แสดงความเอื้อเฟื้อให้แก่เพื่อนบ้าน เป็นการผูกมิตรไมตรีกันไว้ เนื่องจากชาวบ้านจะทำขนมกระยาสารทไว้แจกจ่ายกันตามหมู่บ้าน บ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้ได้พบปะกัน
– เป็นการแสดงความเคารพ และอปจายนธรรมแก่ผู้หลักผู้ใหญ่
– เป็นการกระทำจิตใจของตนให้สะอาดหมดจด ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ขจัดความตระหนี่ได้
– เป็นการบำรุง หรือจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป
– เป็นแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ หรือผีไร่ ผีนาที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี เนื่องจาก สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือน 10 นี้ ข้าวกล้ากำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงขอบคุณตอบแทน
ประเพณีสังวร
– วิธีปฏิบัติในการทำบุญวันสารทจะมีความแตกต่างกันออกไป แล้วแต่หมู่ชน และขนบธรรมเนียมประเพณีตามภูมิภาค ควรยอมรับว่าแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน และปฏิบัติตามแต่ละท้องถิ่นจะนิยม
– การทำบุญวันสารท ควรถือเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ญาติสนิทมิตรสหายทั้งที่ล่วงลับไปแล้วและยังมี ชีวิตอยู่เพราะเป็นช่วงที่ว่างจากการทำนาบ้างหรือไม่เร่งรัดเหมือนกับช่วงปักดำ หรือช่วงเก็บเกี่ยว
– การไปวัดฟังธรรมในอดีต มักเป็นเรื่องของคนเฒ่าคนแก่เป็นส่วนใหญ่ในวันเช่นนี้ควรส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนและคนหนุ่มสาว ไปวัดทำบุญและรักษาศีลให้มากขึ้น เพราะเป็นวัยที่ยังมีพลังที่จะเป็นหลักต่อไปในอนาคต และเป็นช่วง
เวลาที่ไม่เร่งรัดงานมากนัก
– พระสงฆ์ควรเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ประเพณีวันสารทให้ประชาชนเข้าใจและรู้ซึ้งถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง เพื่อส่งเสริมให้สามารถปฏิบัตได้อย่างถูกต้อง
– ควรส่งเสริมฟื้นฟูประเพณีวันสารท ให้มีการปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในหมู่คนไทยทุกกลุ่ม เพื่อเป็นที่รู้จักและแพร่หลายต่อไป
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.