วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน

วันที่ 10 สิงหาคม 2435 เป็นวันที่ได้มีการจัดตั้งสถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรก) ทดลองจัดระเบียบการปกครองระดับตำบล หมู่บ้าน ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านและเป็นการเน้นให้เห็น ความสำคัญของกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการปฏิบัติภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชน ทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 10 สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน

ในอดีตที่ผ่านมา ระบบการปกครองบ้านเมืองของประเทศไทย มีลักษณะค่อนข้างกระจายอำนาจ กล่าวคือ มีการแบ่งเขตการปกครอง และกำหนดวิธีปกครองหัวเมืองต่างๆ ไว้ชัดเจนเพื่อควบคุมเจ้าเมืองโดยมีศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางแต่ในทางปฎิบัติ ส่วนกลางหรือพระมหากษัตริย์กลับมีอำนาจจำกัด ในขณะที่เจ้าเมืองต่างๆ มีอำนาจมากขึ้น นอกจากนี้แล้วระบบการปกครองเช่นนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ อีก เช่นปัญหาทางด้านการคมนาคมสื่อสาร การรั่วไหลในการเก็บภาษีอากร อิทธิพลของผู้เป็นใหญ่ในท้องถิ่น ตลอดจนความทุกข์ยากของประชาชน และยังต้องเผชิญกับอิทธิพลของต่างประเทศในยุคล่าอาณานิคม ทำให้การบริหารประเทศขาดประสิทธิภาพ และขาดความเป็นเอกภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระราชดำริที่จะปฎิรูประบบการบริหารราชการจากรูปแบบการปกครองที่มีเมืองแม่และเมืองประเทศราชอยู่ในปกครอง ซึ่งนับว่ามีจุดอ่อนตรงที่ขาดความเป็นเอกราช อันอาจนำไปสู่ความแตกแยก ขาดความสามัคคีและขาดความจงรักภักดีได้โดยง่าย มาเป็นรูปแบบการปกครองและการบริหารราชการ ที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

การปฎิรูประบบการบริหารราชการส่วนกลาง พระองค์ได้ทรงประกาศพระบรมราชโองการตั้งกระทรวงใหม่ขึ้น 12 กระทรวง โดยทรงเลียนแบบมาจากประเทศทางตะวันตก มีการแบ่งสรรอำนาจหน้าที่และ ความรับผิดชอบ แยกตามลักษณะความชำนาญเฉพาะอย่าง และพระมหากษัตริย์สามารถควบคุมบังคับบัญชาเหล่าเสนาบดีได้อย่างทั่วถึง การปฎิรูปการบริหารราชการส่วนภูมิภาค พระองค์ทรงรวบรวมหัวเมืองตามชายแดนที่สำคัญๆ รวมเป็นเขตการปกครอง เรียกว่า” มณฑล “โดยมุ่งมั่นที่จะปกป้องประเทศจากการคุกคามจากภายนอกโดยจัด ระบบที่เรียกว่า ระบบเทศาภิบาล มีหัวเมืองต่างๆ มารวมกันเป็นมณฑลและมีจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ลดหลั่นกันไป โดยมีข้าหลวงมณฑลเป็นผู้รับผิดชอบ และปกครองโดย รับคำสั่งและนโยบายจากส่วนกลาง

ในการปฎิรูประบบการปกครองส่วนภูมิภาค โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการโดยเริ่มจากโครงการเล็กก่อน เมื่อสำเร็จและจัดระบบดีแล้วจึงค่อยขยายผล และมีการทดลองเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขึ้นเป็นครั้งแรกที่แขวงบางปะอินเมืองกรุงเก่า หรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2435 ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มแรกของการปกครองในระบอบระชาธิปไตย ลักษณะการปกครองเช่นนี้ปรากฎเด่นชัดขึ้น เมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ขึ้นใช้ ซึ่งมีการแบ่งการบริหารราชการของอำเภอออกเป็นตำบลและหมู่บ้าน กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศ ให้วันที่ 10 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน

ภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งของฝ่ายปกครอง คือ ภารกิจเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และเพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมอย่างยั่งยืน กลไกที่สำคัญซึ่งจะทำให้ภารกิจนี้ประสพความสำเร็จได้หรือไม่นั้น อยู่ที่บุคลากรที่เปรียบเสมือนขุนพลทัพหน้าที่อยู่ในภูมิภาค คืออำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยมีนายอำเภอเป็นแม่ทัพใหญ่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นนายกองทั้งหลาย ในการทำสงครามเพื่อต่อสู้กับปัญหาด้านต่างๆ ในพื้นที่ตามภารกิจรับผิดชอบ

กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ราษฎรในพื้นที่รับผิดชอบของตนมาอย่างยาวนานนับร้อยปีในการปกครองส่วนภูมิภาค ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ซึ่งปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘

มาตรา ๒๗ เป็นอำนาจหน้าที่ทั่ว ๆ ไปของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีทั้งสิ้น 19 ข้อ ใน 19 ข้อ เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่การรักษาความสงบเรียบร้อยของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มี 8 ข้อ
1. การรักษาความสงบและความสุขสำราญ ช่วยป้องกันความทุกข์ภัยของลูกบ้านตามสมควร และที่สามารถจะทำได้
2. ถ้าความทุกข์ภัยเกิดแก่ลูกบ้าน ซึ่งจะต้องขอความป้องกันจากรัฐบาล เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะนำความแจ้งต่อเจ้าพนักงานปกครองตั้งแต่กำนัน นายอำเภอ เป็นต้น ขึ้นไปโดยลำดับ
3. เมื่อเห็นเหตุการณ์แปลกประหลาดมีผู้คนล้มตายและมีโรคภัยไข้เจ็บก็ให้รายงานไปยังกำนันและอำเภอต่อไป
4. เมื่อมีคนจรแปลกหน้านอกสำมะโนครัวหมู่บ้านนั้นเข้ามาอาศัย เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านจะต้องไต่ถาม
5. เมื่อมีเหตุจลาจล ฆ่ากันตาย ตีชิงวิ่งราว ปล้นทรัพย์ ไฟไหม้ก็ดี หรือเหตุร้ายสำคัญอย่างใด ๆ ในหมู่บ้านของตน
6. ใครที่แสดงอาฆาตมาดร้าย ซึ่งกันและกันก็ควรเรียกลูกบ้านมาไต่ถามและว่ากล่าวสั่งสอน
7. ควบคุมดูแลลูกบ้าน ให้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งจะต้องพึงกระทำตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ
8. ฝึกอบรมให้คนไทยรู้จักหน้าที่ในเวลามีเหตุศึกสงคราม

สำหรับมาตรา 28 อำนาจหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เกี่ยวด้วยคดีอาญา มี 6 ข้อ
1. เมื่อทราบข่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย เกิดขึ้นหรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในหมู่บ้านของตนต้องแจ้งความต่อกำนันนายตำบลให้ทราบ
2. เมื่อทราบข่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น หรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในหมู่บ้านที่ใกล้เคียง ต้องแจ้งความต่อผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านนั้นให้ทราบ
3. เมื่อตรวจพบของกลางที่ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายมีอยู่ก็ดี หรือสิ่งของที่สงสัยว่าได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมาย หรือเป็นสิ่งของสำหรับใช้ในการกระทำผิดกฎหมายก็ดี ให้จับสิ่งของนั้นไว้และรีบนำส่งต่อกำนันนายตำบล
4. เมื่อปรากฏว่าผู้ใดกำลังกระทำผิดกฎหมายก็ดี หรือมีเหตุควรสงสัยว่า เป็นผู้ที่ได้กระทำผิดกฎหมายก็ดี ให้จับตัวผู้นั้นไว้และรีบนำส่งต่อกำนันนายตำบล
5. ถ้ามีหมายหรือมีคำสั่งตามหน้าที่ราชการ ให้จับผู้ใดในหมู่บ้านนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะจับผู้นั้น และรีบส่งต่อกำนัน หรือกรรมการอำเภอตามสมควร
6. เมื่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกหมายสั่งให้ค้น หรือให้ยึด ผู้ใหญ่บ้านต้องจัดการให้เป็นไปตามหมาย

จากหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าหน้าที่ดังกล่าวคือหน้าที่ตำรวจนั่นเอง ฝ่ายปกครองจึงเป็นตำรวจประเภทหนึ่งตามกฎหมายนี้ หากฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจจับกุม ปราบปรามผู้กระทำผิดอาญา ก็เปรียบเสมือนกับยักษ์ไม่มีกระบองนั้นเอง ทำอะไรไม่ได้มาก อำนาจจับกุมจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการปกครองเพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข