วันสันติภาพไทย
วันสันติภาพไทย
ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ประเทศไทยโดยนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันสันติภาพไทย”
ประวัติความเป็นมา
สันติภาพ หมายถึงเสรีภาพ สิทธิ หน้าที่ ที่ทุกคนจะต้องสร้างสันติภาพภายในประเทศก่อนที่จะมีสันติภาพกับภายนอกประเทศ ดังคำกล่าวที่ว่า “ถ้าที่ไหนมีการสู้รบ ประเทศชาติและประชาชนจะยากจน”
“วันสันติภาพไทย” จะมีการจัดงานฉลองขึ้นทุกวันที่ 16 สิงหาคม เพื่อรำลึกถึงคุณูปการ คุณงามความดีของ ขบวนการเสรีไทย ที่ได้กระทำมาแล้ว ในระหว่างที่ ประเทศชาติอยู่ในช่วงวิกฤติ บทบาทอันสูงส่งนี้ย่อมได้รับการจารึกไว้ ในหน้าหนึ่งอันงดงามยิ่ง ของประวัติศาสตร์ไทย และจะเป็นอนุสาวรีย์ทางจิตใจที่จะเตือนใจให้ประชาชนชาวไทยรุ่นหลัง ได้ถือเอาเป็นแบบอย่าง และเป็นแรงพลังทางใจในอันที่จะระแวดระวังรักษาไว้ ซึ่งอุดมการณ์อันดีงาม ของการต่อต้านสงครามและการรุกรานทุกรูปแบบ การต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยอย่างไม่ยอมจำนน และ เป็นการปลูกฝังให้ยุวชนรุ่นหลังรักสันติภาพ อีกทั้งเป็นการประกาศให้นานาประเทศ รับรู้เจตนารมณ์ ของประชาชนชาวไทย ที่จะยึดมั่นอุดมการณ์แห่งการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน และประชาคมโลก อย่างสันติและเอื้ออาทรต่อกัน
“…สันติภาพ มิได้หมายความถึงการสงบนิ่งไม่กระทำการใดๆ เลย หากเป็นปฏิบัติการแห่งความรัก ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั้งมวล ภารกิจเพื่อสันติภาพจึงเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติซึ่งจะบรรลุผลสำเร็จได้ มิใช่ด้วยการเรียกร้องที่จะได้รับ หากอยู่ที่การลงมือเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน…”
(พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเนื่องในงาน 50 ปี วันสันติภาพไทย วันที่ 16สิงหาคม 2538)
“คำประกาศสันติภาพ” ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีดังต่อไปนี้
“…โดยที่ประเทศไทยได้เคยถือนโยบายอันแน่วแน่ที่จะรักษาความเป็น
กลางอย่างเคร่งครัด และจะต่อสู้การรุกรานของต่างประเทศทุกวิถีทาง ดังปรากฏเห็นได้ชัดจากการที่ได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ เมื่อพุทธศักราช 2484 อยู่แล้วนั้น ความจำนงอันแน่วแน่ดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นประจักษ์แล้ว ในเมื่อญี่ปุ่นได้ยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทย ในวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 โดยได้มีการต่อสู้การรุกรานทุกแห่ง และทหาร ตำรวจ ประชาชน พลเมืองได้เสียชีวิตไปในการนี้เป็นอันมาก
เหตุการณ์อันปรากฏเป็นสักขีพยานนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่าการประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2485 ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนง ของประชาชนชาวไทยและฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ประชาชนชาวไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือสนับสนุนสหประชาชาติ ผู้รักที่จะให้มีสันติภาพในโลกนี้ได้กระทำการทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือสหประชาชาติดังที่สหประชาชาติส่วนมากย่อมทราบอยู่แล้ว ทั้งนี้ เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนชาวไทยอีกครั้งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยต่อการประกาศสงคราม และการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาติดังกล่าวมาแล้ว
บัดนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ยอมปฏิบัติตามคำประกาศของสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ จีน และสหภาพโซเวียต ซึ่งได้กระทำ ณ นครปอตสดัมแล้ว สันติภาพจึงกลับคืนมาสู่ประเทศไทย อันเป็นความประสงค์ของประชาชนชาวไทย
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับสหประชาชาติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้
บรรดาดินแดนซึ่งญี่ปุ่นได้มอบให้ไทยครอบครอง คือ รัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะริส เชียงตุง และเมืองพานนั้น ประเทศไทยไม่มีความปรารถนาที่จะได้ดินแดนเหล่านี้และพร้อมที่จะจัดการเพื่อส่งมอบในเมืองบริเตนใหญ่พร้อมที่จะรับมอบไป
ส่วนบรรดาบทกฎหมายอื่นๆ ใดอันมีผลเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่และเครือจักรวรรดิ ก็จะได้พิจารณายกเลิกไปในภายหน้า บรรดาความเสียหายอย่างใดๆ จากกฎหมายเหล่านั้นก็จะได้รับชดใช้โดยชอบธรรม…”
ความเป็นมาวันแห่งสันติภาพ
วันที่ท่าน ปรีดี พนมยงค์ ในพระปรมาภิไธยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประกาศสันติภาพให้แก่ประเทศไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงอย่างเป็นทางการ 1 วัน ถือเป็นหนึ่งในคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อประเทศไทยประการหนึ่งที่ท่านปรีดี พนมยงค์ได้บำเพ็ญไว้ ขณะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในทางเปิด และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในทางลับ เป็นการทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเป็นผู้แพ้สงคราม
นับแต่วันที่กองทัพญี่ปุ่นยาตราเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อเช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ท่านปรีดี พนมยงค์ก็นัดหมายบุคคลใกล้ชิดมาหารือกันในตอนค่ำวันเดียวกันทันทีที่บ้านถนนสีลม บรรลุหลักการจัดตั้งขบวนการกู้ชาติเพื่อต่อต้านศัตรูผู้รุกรานอธิปไตยขึ้นในทันที เพราะเชื่อว่าโดยรัฐบาลไทยในขณะนั้นมีแนวโน้มที่จะยอมรับเป็นพันธมิตรกับผู้รุกรานด้วยความจำเป็น ขบวนการกู้ชาติในชั้นต้นใช้ชื่อว่าองค์การต่อต้านญี่ปุ่น !
ภารกิจมีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ ต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกรานโดยพลังคนไทยผู้รักชาติทั้งในประเทศและต่างประ เทศ รวมทั้งร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร คืออังกฤษและสหรัฐอเมริกา และที่สำคัญคือจะต้องปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรเห็นและรับรองในเจตนารมณ์อันแท้จริงของคนไทยด้วย
เมื่อรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม 2485 ภารกิจของขบวนการกู้ชาติก็เพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง คือจะต้องปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และการผ่อนหนักเป็นเบาหลังสงครามยุติ ที่ตั้งในชั้นต้นของกองบัญชาการของขบวนการกู้ชาติอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เนื่องเพราะท่านปรีดี พนมยงค์ยังคงดำรงตำแหน่งผู้ศาสน์การอยู่และอยู่ใกล้กับบ้านพักรับรองของท่านบริเวณท่าช้าง
บ้านพักรับรองที่เคยเรียกขานกันในยุคนั้นว่า “ทำเนียบท่าช้าง” นั้นปัจจุบันได้รับการจำลองแบบมาสร้างไว้บนเนื้อที่ 150 ไร่แบ่งออกมาจากสวนน้ำบึงกุ่มที่มีอยู่ 360 ไร่ เพื่อเป็นหอเกียรติภูมิและเกียรติประวัติระลึกถึงวีรกรรมของสมาชิกขบวนการเสรีไทย อันเป็นดำริเริ่มต้นจากทายาทสมาชิกขบวนการเสรีไทยและสมาชิกขบวนการเสรีไทยที่ยังเหลืออยู่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2533 โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีพอสมควรจากกรุงเทพมหานครในยุคนั้น เพิ่งจะสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา
อาคารเสรีไทยอนุสรณ์
ส่วนบริเวณพื้นที่โดยรอบ และถนนด้านหน้า ก็ได้รับการขนานนามขึ้นมาใหม่ก่อนหน้านี้แล้วเพื่อให้สอดคล้องต้องกัน“สวนเสรีไทย”“ถนนเสรีไทย”ท่านปรีดี พนมยงค์กระทำการครั้งนั้นเพื่อชาติโดยแท้ ไม่มีวาระซ่อนเร้นเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะตัวแอบแฝงงานของขบวนการเสรีไทยเป็นไปในลักษณะเฉพาะหน้า เฉพาะกิจ เฉพาะกรณีเมื่อจบภารกิจก็ยุติบทบาทสลายกำลัง – วางอาวุธ !
ต้องเข้าใจนะครับว่าเสรีไทยสมัยนั้นมีอาวุธทันสมัยจำนวนมากที่ได้รับจากฝ่ายสัมพันธมิตร ซุกซ่อนไว้ตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมการจับอาวุธลุกขึ้นสู้พร้อมกันทั่วประเทศ แต่บังเอิญสงครามยุติลงเสียก่อน วันจับอาวุธเลยไม่เกิดขึ้น และเสรีไทยก็ไม่ได้ใช้อาวุธนั้นมายึดอำนาจทางการเมือง
ในการสวนสนามของพลพรรคขบวนการเสรีไทย ณ ถนนราชดำเนินกลางเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2488 ที่ท่านปรีดี พนมยงค์เป็นประธานในพิธีนั้น มีกองกำลังเสรีไทยเข้าร่วมประมาณ 8,000 คน พร้อมด้วยอาวุธทันสมัยที่ได้รับจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา คำปราศรัยอันเป็นประวัติศาสตร์ของท่านผู้เป็นประธานมีอยู่ตอนหนึ่งว่า
“เราทั้งหลายได้ถือเป็นหลักเป็นคติในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวังทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลตอบแทนการกระทำทั้งหลาย ไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือหมู่คณะใด แต่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล การกระทำคราวนี้มิได้ตั้งเป็นคณะหรือพรรคการเมือง แต่เป็นการร่วมงานกันประกอบกิจเพื่อให้ประเทศไทยได้กลับคืนสู่สถานะก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484……
“วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัด และมีเงื่อนเวลาสิ้นสุด กล่าวคือเมื่อสภาพการณ์เรียบร้อยลงแล้ว ก็จะเลิก สิ่งที่เหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลายก็คือ มิตรภาพอันดี ในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา โดยปราศจากความคิดที่จะเปลี่ยนสภาพองค์การให้เป็นคณะหรือพรรคการเมือง”
รัฐบาลในยุคนั้นประกาศพระราชกฤษฎีกาสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นมาเพื่อมอบให้แก่สมาชิกขบวนการเสรีไทย เพื่อเป็นการตอบแทนวีรกรรม ตอบแทนความเสียสละที่ร่วมรับใช้ชาติในภาวะคับขัน
เหรียญสันติมาลา
แต่เมื่อจัดสร้างเสร็จแล้ว ยังไม่ทันที่จะมีพิธีแจกเหรียญอย่างสมเกียรติ ก็เกิดการรัฐประหารอันเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยขึ้นเสียก่อนในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในยุคนั้น ตัดสินใจ “รับเชิญ” จากคณะทหารขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะจำใจ “รับเชิญ” ให้ลาออกไปในเวลาไม่นาน แต่ระหว่างที่บริหารประเทศอยู่นั้น รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์สั่งระงับการแจกเหรียญสันติมาลาและสั่งให้เอาเหรียญดังกล่าวที่ทำไว้เสร็จสรรพแล้วส่งให้กองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ยุบหลอมทำเป็นเหรียญสลึงเหรียญห้าสิบสตางค์ใช้ไปให้หมด
ท่านปรีดี พนมยงค์ลี้ภัยไปยังต่างแดน และเสียชีวิตนอกมาตุภูมิในที่สุดเมื่อปี 2526
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.