วันออกพรรษา
วันออกพรรษา หรือ วันปวารณาออกพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมปวารณาออกพรรษาในวันนี้ วันออกพรรษาตามปกติ (ออกปุริมพรรษา1) จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย
วันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน (นับแต่วันเข้าพรรษา) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” คำว่า “ปวารณา” แปลว่า “อนุญาต” หรือ “ยอมให้” ในวันออกพรรษานี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า มหาปวารณา เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ ทำให้ได้รู้ข้อบกพร่องของตน และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วย
วันออกพรรษา หรือวันพระพุทธเจ้าเปิดโลก
ในพรรษาที่ 7 นับแต่ปีที่ตรัสรู้ พระพุทธองค์จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่หนึ่งพรรษา (3เดือน) ครั้นถึงวันปวารณาออกพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธองค์จึงเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ทางบันไดทิพย์ ทั้ง 3 ได้แก่ บันไดเงิน และ บันไดทอง และ บันไดแก้ว ซึ่งสักกเทวราช (พระอินทร์) ให้พระวิษณุกรรมเนรมิตทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่โลกมนุษย์ ที่ ประตูเมืองสังกัสนคร ที่นั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนต่างมารอรับตักบาตรภัตตาหารกันอย่างเนืองแน่นชาวพุทธจึงยึดถือปรากฎการณ์ในวัน แรม1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ เรียก “วันเทโวโรหณะ” และ วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก เพราะวันนั้นโลกทั้ง 3 คือ สวรรค์ มนุษย์ และ บาดาล (นรก) ต่างสามารถแลเห็นกันได้ตลอดทั้ง 3 โลก
เมื่อทำพิธี วันออกพรรษาแล้ว พระภิกษุสงฆ์สามารถจาริกไปในสถานที่ต่างๆ หรือค้างคืนที่อื่นได้โดยไม่ผิดพระพุทธบัญญัติ และยังได้รับอานิสงค์ก็คือ
– ไปไหนไม่ต้องบอกลา
– ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด
– มีสิทธิ์รับลาภที่เกิดขึ้นได้
– มีโอกาสได้อนุโมทนากฐิน ที่จะสามารถขยายเวลาของอานิสงค์ออกไปอีก 4 เดือน
กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา
1. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
2. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
3. ร่วมกุศลธรรม “ตักบาตรเทโว”
4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ และประดับธงชาติและธงธรรมจักรตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
5. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับวันออกพรรษาฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป
6. งดการเที่ยวเตร่ ละเว้นอบายมุข รวมทั้งละเว้นการฆ่าสัตว์ และบริโภคเนื้อสัตว์
ประเพณีเกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา
ประเพณีตักบาตรเทโว
หลังวันออกพรรษา 1 วัน คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมีการ “ตักบาตรเทโว” หรือชื่อเต็มตามคำพระว่า “เทโวโรหนะ” แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก โดยสามารถเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ตักบาตรดาวดึงส์” โดยอาหารที่นิยมนำไปใส่บาตรคือ ข้าวต้มมัด และ ข้าวต้มลูกโยน
ความเป็นมาของประเพณีตักบาตรเทโว มีดังนี้
สมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม และเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาโดยจำพรรษาอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลา 1 พรรษา และเมื่อออกพรรษาแล้วพระองค์ได้เสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ณ เมืองสังกัสสคร การที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกตามศัพท์ภาษาบาลีว่า “เทโวโรหณะ” ในครั้งนั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส เมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอตักบาตรเพื่อรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวปฏิบัติสืบทอดกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
โดยพิธีตักบาตรเทโวโรหณะในปัจจุบันนั้นจะเริ่มตั้งแต่ตอนรุ่งอรุณ หลัง วันออกพรรษา พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันไดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้
2. ประเพณีเทศน์มหาชาติ
งานเทศน์มหาชาติ นิยมทำกันหลัง วันออกพรรษา พ้นหน้ากฐินไปแล้ว ซึ่งกฐินจะทำกัน 1 เดือนหลังออกพรรษา ที่จะร่วมกันทอดกฐินทั้ง จุลกฐิน และ มหากฐิน โดยประเพณีงานเทศน์มหาชาติอาจทำในวันขี้น 8 ค่ำกลางเดือน 12 หรือในวันแรม 8 ค่ำ ก็ได้ เพราะในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน 4 เรียกว่า “งานบุญพระเวส” ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 ก็มี
งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำในเดือน 10 โดยการเทศน์มหาชาตินั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 13 กัณฑ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.